“บุก” เป็นพืชที่มีอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย เป็นพืชล้มลุก มีหัวอยู่ใต้ดิน ขึ้นในฤดูฝน เติบโตงอกงามได้ดีเมื่อขึ้นใต้ร่มเงาไม้ บุกมีหลากหลายชนิด (สายพันธุ์) ยางของบุกเมื่อถูกผิวหนังจะทำให้คันเหมือนกับยางของบอน และเมื่อนำมาทำอาหารต้องรู้วิธีการที่ถูกต้องตั้งแต่การเลือกชนิดของบุก ส่วนไหนที่ใช้นำมาทำอาหาร มีวิธีการปรุงอย่างไร เป็นต้น
บุก ที่คนโคกสลุงนิยมกิน
1. บุกรอ ใช้ต้นอ่อนแกงกับหน่อไม้ เผาไฟ (หมก) ให้ร้อนระอุ กินกับน้ำพริกตาแดงใส่มะขามเปียก และทำขนมบุก
2. บุกลาย มี 3 วงจร ในรอบปี
– ประมาณเดือนมีนาคม บุกลายจะออกดอก เป็นอาหารยอดนิยม นำดอกบุกลายมาต้มใส่มะขามเปียกต้มจนเปื่อย นำมาจิ้มกับน้ำพริกตาแดงใส่มะขามเปียก
– ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เป็นลูกบุก นิยมเอาลูกบุกลายมาหมกให้ร้อนระอุ แล้วนำมาแกงใส่เปราะกับแย้
– ประมาณเดือนกรกฎาคม บุกลายก็จะขึ้นเป็นต้นอ่อน ชาวโคกสลุงจะไปเก็บบุกลายมาแกง สามารถแกงได้ 2 แบบ คือ
1. แกงใส่ข้าวเบือ เช่น แกงบุกลายกับปลาดุกนา ใส่มะขามอ่อน กะเชาะปลาร้า พอเดือดใส่ใบโหระพา แล้วยกลงพร้อมกิน
2. แกงใส่ข้าวคั่ว เช่น แกงบุกลายกับไก่บ้าน ใส่ใบมะขามอ่อน พอเดือดให้ใส่ข้าวคั่ว ใส่ใบกะเพรา แล้วยกลงพร้อมกิน
บุกดอก ใช้ส่วนของลำต้นนิยมนำมาแกงได้ทั้ง 2 แบบ คือแกงใส่ข้าวเบือ และแกงใส่ข้าวคั่ว
บุกกะเตียหรือบุกกะเตียเวีย นิยมเอามาต้มใส่มะขามเปียกต้มจนเปื่อย นำมาจิ้มกับน้ำพริกตาแดงใส่มะขามเปียก
นอกจากนี้ก็ยังมีบุกที่ชาวโคกสลุงนิยมกินอีกหลายชนิด บุกหางงัว บุกนกแก้ว บุกคันหอก บุกอีเหียด บุกลม เป็นต้น