ชุมชนไทยเบิ้งโคกสลุง

  จากการขุดค้นพบโบราณวัตถุ และหลักฐานอื่นๆทางประวัติศาสตร์สันนิษฐานได้ว่า บริเวณนี้เป็นแหล่งชุมชนโบราณหลายยุค ดังนี้  
–  ยุคก่อนประวัติศาสตร์  พบเศษภาชนะดินเผา ที่บ้านเกาะพระแก้ว(บ้านร้าง) ขุดค้นโดยกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ – ๒๕๓๙

–  ยุคอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร–ลพบุรีพบชิ้นส่วนบัวกลีบขนุน ทำจากหินทราย  พบศิลาแลงและหินทรายตัดเป็นแท่งสี่เหลี่ยมเพื่อใช้ประกอบเป็นอาคารจำนวนหนึ่งลักษณะเดียวกับศิลาแลงและหินทรายที่ใช้ก่อสร้างพระปรางค์สามยอดลพบุรีพบที่วัดโคกสำราญ คงเคยเป็นศาสนสถานก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมเขมร นอกจากนั้นยังพบสิ่งก่อสร้างจากศิลาแลง หินทราย อิฐและกระเบื้องดินเผาที่โคกระฆังและโคกบ้านในเขตตำบลโคกสลุง ซึ่งเป็นที่เนินเคยเป็นถิ่นฐานที่อยู่อาศัยในอดีตได้ร้างไป
–  ยุคปัจจุบัน ตำบลโคกสลุงเคยขึ้นกับเมืองไชยบาดาล(ชัยบาดาลซึ่งเคยขึ้นกับเมืองโคราช,เมืองเพชรบูรณ์,เมืองสระบุรีและเมืองลพบุรี)มาโดยตลอด จนกระทั่งพ.ศ.๒๕๐๕กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศตั้งอำเภอพัฒนานิคมจึงได้แยกตำบลโคกสลุงมาขึ้นกับอำเภอพัฒนานิคมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

วัฒนธรรมไทยเบิ้งด้านภาษา

ชาวไทยเบิ้งมีภาษาพูดคล้ายภาษาไทยภาคกลางแต่มีเสียงวรรณยุกต์ต่างไปและนิยมลงท้ายประโยคด้วยคำว่า เบิ้ง ด๊อก เหว่ยเด๊อ  มีคำเฉพาะของไทยเบิ้งโคกสลุงเช่นกะเหลินเปิน กะแหล่ง กะป๋ง กูง ขะแยะ ขยุบ ฟ้าแขยบ หน้าเดิ่น หัวจก รถถีบ ลูกกะเล็ก ฯลฯ  มีผู้เรียกว่า ภาษาไทยโคราชด้านวรรณกรรมเก่าแก่พบมีรูปแบบตัวอักษรที่เขียนคือ “อักษรไทยและอักษรขอม”เป็นส่วนใหญ่วัสดุที่ใช้เขียนเป็นสมุดไทยดำ สมุดไทยขาว(สมุดข่อย) บนใบลาน เนื้อหาเป็นคำสอนคติธรรม ตำรายา ตำราหมอ เป็นต้น

การแต่งกาย

การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยเบิ้งในอดีตปัจจุบันผู้มีอายุประมาณ ๖๐ ปีขึ้นไปยังคงแต่งอยู่คือ ผู้หญิงนิยมตัดผมทรงดอกกระทุ่มไม่นิยมแต่งหน้า ใส่เสื้ออีแปะ  เสื้ออีหิ้ว(เหมือนเสื้อสายเดี่ยว)เสื้อกระโจม  นุ่งผ้าโจงกระเบนหรือผ้าโต่ง(ผ้าถุง) มีผ้าขาวม้าเป็นสไบเฉียง สะพายย่าม(หมาก) นิยมกินหมากและใช้สีผึ้งผู้ชาย ใช้เสื้อคอกลม เป็นผ้าป่าน นุ่งผ้าโจงกระเบน หรือกางเกงขาก๊วย กางเกงแพรกางเกงขาสั้น กางเกงขายาวหรือผ้านุ่งตาหมากรุก มีผ้าขาวม้าพาดบ่าหรือเคียนเอวยังมีบางคนที่กินหมากอยู่

ภูมิปัญญาด้านอาหาร

ชาวไทยเบิ้งใช้วัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติมาผลิตและปรุงอาหาร ทำง่าย กินง่าย อาหารสดใหม่ หรือเก็บรักษาไว้กินนานๆเช่น ตากแห้งทำเค็ม ดองเปรี้ยว โดยไม่ใช้สารปรุง  กินข้าวเจ้าผักพื้นบ้าน ดังคำกล่าวว่า “กินปลาเป็นหลักกินผักเป็นพื้น” ไม่นิยมกินอาหารใส่กะทิหรือทอด
อาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยเบิ้งเช่นแกงบอน แกงบุก แกงหัวลาน แกงมันนก ต้มไก่บ้านเครื่องดำ ต้มอึ่ง แกงสามสิบ แกงแย้เหมือดเปราะ  เป็นต้น