อาหารพื้นบ้าน

เรื่องเล่าจากป่าเปราะ

  “เปราะ” พืชที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย ใบอ่อนมีลักษณะม้วนเป็นกระบอกตั้ง เมื่อใบเริ่มแก่จะค่อยๆ แผ่ราบบนหน้าดิน ลักษณะของใบเป็นรูปค่อนข้างกลม ท้องใบนั้นหากมีสีแดงจะเรียกว่า “เปราะแดง” หากมีสีขาวจะเรียกว่า “เปราะขาว” ดอกมีสีขาว ออกเป็นช่อตรงกลางระหว่างใบ โดยมีดอกย่อยได้ตั้งแต่ 6-10 ดอก แต่ดอกจะทยอยบานครั้งละ 1-2 ดอก มักพบบริเวณ ป่าไผ่ ป่าดิบ และป่าผลัดใบ

      ชาวไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุง มักจะไปหาเปราะ เมื่อฝนแรก ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม จะเริ่มเก็บเปราะในป่าเพื่อนำมาปรุงอาหาร ซึ่งเปราะเป็นผักพื้นบ้านที่ทุกครัวต้องนำมาปรุงเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็น แกงเปราะเหมือดกับอึ่ง ยำเปราะใส่แย้ หรือแม้แต่นำมารับประทานเป็นผักดิบกินกับปลาร้าสับก็อร่อยนัก

     ในปัจจุบัน เปราะ ก็ยังเป็นเมนูในสำรับอาหารของชาวไทยเบิ้งบ้านโคกสลุงมิเคยขาด เป็นอาหารที่รับประทานได้ทั้งบ้าน ตั้งแต่เด็ก ไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้าน ปัจจุบันชาวไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุงนำเอาเปราะจากป่ามาปลูกในสวนครัวหลังบ้าน ปลูกและดูแลง่าย เพื่อให้เปราะยังคงเป็นอาหารคู่ครัวของชาวไทยเบิ้งต่อไปอีกนานแสนนาน……