ต้นทองกวาวของชาวไทยเบิ้งโคกสลุง

📌📌📌ต้นทองกวาวของชาวไทยเบิ้งโคกสลุง ต้นไม้ใหญ่ที่มีประโยชน์ต่อชาวไทยเบิ้งมาอย่างยาวนาน

🌳🌳 ต้นทองกวาวเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย กิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลหนา แตกกิ่งก้านไปในทิศทางไม่เป็นระเบียบ เปลือกต้นเป็นปุ่มปม ใบจะมีใบย่อย 3 ใบเรียงสลับกัน มีดอกสีแดงส้มหรือแสด ออกดอกเป็นช่อ ดอกย่อยเกาะกันเป็นกลุ่ม มี 5 กลีบ ซึ่งจะออกดอกในช่วงกุมภาพันธ์ของทุกปี ฝักจะแบน โค้งงอเล็กน้อย ใน 1 ฝักจะมี 1 เมล็ด

คนโคกสลุงจะแบ่งทองกวาวที่พบเป็น 3 ชนิดคือ

🎯ทองกวาวต้น จะมีใบใหญ่ เป็นไม้ต้นสูงใหญ่ พบตามทุ่ง ที่ราบทั่วไป

🎯ทองกวาวเครือต้น เป็นไม้ต้นสูง แต่กิ่งจะโน้มอ่อน มีขนาดใบเล็ก

🎯ทองกวาวเครือ มีใบขนาดใหญ่ที่สุด ลักษณะเป็นไม้เลื้อย พบตามป่า เขา หรือที่อากาศเย็น

การใช้ประโยชน์ทองกวาวของคนโคกสลุง

 

🔶 ใบทองกวาว/ใบตองทอง 🍃🍃

ใช้ห่อข้าว พริกตะเกลือ เพื่อไปหาของป่า หรือไปที่ต่างๆ หรือใช้ห่อขนม เช่น ขนมฟักทอง ขนมกล้วย ข้าวต้มมัด เพราะเมื่อใช้ใบทองกวาวห่อ ขนมจะไม่ชื้น จะยังคงแห้ง น่ากิน และจะได้กลิ่นของใบที่ช่วยให้อาหารมีกลิ่นหอม น่ากินมากขึ้น ยิ่งเป็นหน้าฝนใบจะใหญ่มาก และส่วนใหญ่จะใช้เป็นใบของทองกวาวเครือ

🔶 ดอกทองกวาว 🌼🌼

จะนำมาใช้ย้อมผ้าหรือด้าย ซึ่งจะใช้ดอกสด นำมาย้อมด้วยวิธีย้อมร้อน หรือต้มให้ออกสีและนำผ้าหรือด้ายจุ่มแช่ไว้ให้ติดสี โทนสีที่ได้คือโทนสีเหลือง

เพราะการใช้ประโยชน์จากทองกวาวที่หลากหลายจากใบและดอก ทั้งการย้อมสีผ้า ห่อข้าว ห่อขนม และให้ร่มเงา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวไทยเบิ้งมาเนิ่นนาน จึงเกิดเป็นความสุขเล็กๆ ที่ได้เห็นผ้าสีเหลืองถูกย้อมมาจากดอก ข้าว ขนมมีกลิ่นหอมจากใบ

#เพราะความสุขเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ #ไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง #โคกสลุง 🥰